วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เสียงของผู้ประกอบการและประชาชน ใน อ.วังน้ำเขียว กับความเป็นไปได้ของทางออก (ตอน 3)


หัวข้อ: การให้อำนาจรัฐประกาศเขตอุทยานแห่งชาติกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ผู้เขียน: เด็กหญิงวังน้ำเขียว
               
                จากกรณีปัญหาการทับซ้อนระหว่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติกับพื้นที่ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาก่อนมีการประกาศแนวเขตอุทยาน อาจทำให้เกิดความสงสัยและความแคลงใจของชาวบ้านได้ว่า ทำไมถึงมีกฎหมายให้อำนาจรัฐในการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้านเช่นนี้
เพื่อคลายข้อข้องใจ เด็กหญิงวังน้ำเขียวขออาสานำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยที่ 33/2554 มาสรุปให้เพื่อนๆชาวบล็อคได้เข้าใจในการใช้อำนาจของรัฐตามกฎหมายและสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญกันค่ะ
ปัจจุบันกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐในการประกาศพื้นที่ใดเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ..2504 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดที่มีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมเพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน ก็ให้มีอำนาจกระทำได้โดยประกาศพระราชกฤษฎีกาและให้มีแผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย บริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า อุทยานแห่งชาติ
ที่ดินที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ต้องเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง
การที่มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ..2504 ได้ให้อำนาจรัฐบาลในการประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศพระราชกฤษฏีกานั้น มีประเด็นที่ต้องวินิฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 66[1] และ 67[2] หรือไม่?
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ..2504 มาตรา 6 ให้อำนาจรัฐบาลสามารถดำเนินการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติได้ และไม่ได้มีสาระเกี่ยวกับการใช้สิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะสามารถดำเนินการได้ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องคำนึงถึงสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด ในทางกลับกันหากหากเจ้าหน้าที่ไม่ปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือกระทำการละเมิดสิทธิของประชาชน ก็ไม่ได้ตัดสิทธิชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐ
 และการที่มาตรา 6 กำหนดให้รัฐบาลมีอำนาจประกาศพื้นที่ที่มีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติได้นั้น ก็มีเจตนารมณ์เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และรักษาประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นสำคัญ โดยมีเงื่อนไขในการประกาศไว้ว่า พื้นที่ที่จะประกาศต้องมิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือการครอบครองโดยชอบของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง ประกอบกับบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามการนำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองมาใช้
ส่วนความเดือดร้อนหรือผลกระทบที่ชุมชนอาจได้รับอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ดังนั้นพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.. 2504 มาตรา 6 ไม่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน และไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เด็กหญิงวังน้ำเขียวขอสรุปสั้นๆเพื่อความเข้าใจอีกครั้งว่า การที่รัฐมีอำนาจประกาศเขตอุทยานไม่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน เพราะอำนาจดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งพื้นที่ที่เป็นของเอกชนตามประมวลกฎหมายที่ดินจะถูกกันออกจากพื้นที่อุทยาน และไม่ได้ตัดสิทธิชุมชนในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิตามกฎหมาย
เช่นนี้แล้วเด็กหญิงวังน้ำเขียวก็หวังว่าคงช่วยคลายความสงสัยของเพื่อนๆได้ไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าค่ะ ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรติดตามตอนต่อไปคะ 




[1] มาตรา ๖๖  บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

[2] มาตรา ๖๗  สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ  และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม
การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้  เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน  และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน  รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น