วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหากรณี รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน


                                                                                                                    ผู้เขียนและเรียบเรียง: เด็กหญิงวังน้ำเขียว

              ปัจจุบันพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ดังนั้นการเข้าไปยึดถือ ครอบครอง สร้างรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานจึงเป็นปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อประเทศ

                ผลที่ตามมาทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนายทุนในประเทศและต่างประเทศที่รุกล้ำที่ดินทั้งในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ เพื่อทำที่พักตากอากาศรีสอร์ท รวมทั้งปลูกพืชสวนทางการเกษตร แต่การบังคับใช้กฎหมายกับบุคลเหล่านี้กลับทำได้ยาก เพราะมีทั้งเงินทุนและความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ อิทธิพลต่างๆ นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะสู้คดีจนถึงที่สุด แม้ว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลให้รื้อถอนหรือให้เลิกดำเนินการก็ยังฝ่าฝืนต่อไป

                โดยอาจกล่าวได้ว่า ผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่สร้างบ้านพักตากอากาศและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ได้ถูกดำเนินคดี จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ยังคงไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา และยังอยู่ในพื้นที่พิพาท โดยยังคงใช้สิทธิทางศาล โดยนำคดีไปฟ้องยังศาลปกครอง เพื่อขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครอง เพื่อชะลอการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

                นอกจากนี้ในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้กระทำผิด เนื่องจากการกระทำของผู้ต้องหานั้นไม่ครบองค์ประกอบความผิดเนื่องจากขาดเจตนาบุกรุก หรือด้วยเหตุผลที่ว่าราษฎรอยู่ในพื้นที่โดยได้รับการผ่อนปรนให้เป็นที่ทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี ปัญหาที่ตามมาคือ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานถูกฟ้องกลับทั้งข้อหาบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ หน่วงเหนี่ยวกักขัง เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา ทั้งที่บุคคลเหล่าอยู่ในพื้นที่ของอุทยานโดยไม่มีสิทธิ การที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง เป็นเพียงการขาดเจตนาบุกรุก มิใช่ว่าบุคคลเหล่านั้นมีสิทธิอยู่ในเขตอุทยานแต่ประการใด

                แม้ว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดพนักงานอัยการ เป็นทนายความแก้ต่างให้กับเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องคดีอาญา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่เป็นสิ่งสมควรแล้วหรือไม่ที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างพากเพียรแทนที่จะได้รับการยกย่อง กลับต้องมาได้รับผลของการปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ ถูกฟ้องข้อหาบุกรุก ทั้งที่เป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เอง หรือถูกฟ้องทำให้เสียทรัพย์ ทั้งที่เป็นหน้าที่ซึ่งต้องกระทำตามกฎหมาย

                แน่นอนว่ากฎหมายย่อมผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมและคุ้มครองผู้ที่กระทำตามกฎหมาย แต่การถูกฟ้องคดีเป็นจำนวนมาก ทั้งการเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางไปศาลนั้น ย่อมบั่นทอนกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก กว่าศาลจะมีคำพิพากษาเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดอาจหมดทั้งแรงกาย แรงใจ ในการปกป้องผืนป่า

                ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่คนไทยจะลุกขึ้น ร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยเจ้าหน้าที่กรมุอุทยานฯในการรักษาผืนป่า ด้วยวิธีง่ายๆ อย่างการเลิกอุดหนุนรีสอร์ทซึ่งทำการบุกรุกพื้นที่อุทยาน สร้างมาตรการทางสังคมขึ้น เพื่อเป็นอีกแรงสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการเข้ารื้อถอนรีสอร์ทที่บุกรุกอุทยานฯ หากประชาชนยังเข้าพัก การที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายย่อมยากลำบาก และหากไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สังคมไทยจะอยู่อย่างมั่นคงได้อย่างไร  

                สุดท้ายแล้วสังคมไทยจะต้องไม่ทอดทิ้งเจ้าหน้าที่ ให้สมกับที่เจ้าหน้าที่ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ รักษาผืนป่าไว้ให้แก่ปวงชนชาวไทยทุกคนอย่างสุดความสามารถ

 
เข้าไปเยี่ยมชมเพจเที่ยวไทยอุ่นใจ ไม่ทำร้ายป่า ทาง facebook ของเราได้ที่ : http://www.facebook.com/pages/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%88-%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2/192501247557786
 

อ้างอิง: ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ
 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น